รมช.แรงงาน ลงพื้นที่จังหวัดชลบุรี เยี่ยมชมเทคโนโลยี พร้อมมอบนโยบายด้านแรงงาน

18 พฤศจิกายน 2563

วันที่ 16 พฤศจิกายน 2563 ศาสตราจารย์ นฤมล ภิญโญสินวัฒน์ รัฐมนตรีช่วยว่าการกระทรวงแรงงาน ตรวจเยี่ยมสถาบันพัฒนาฝีมือแรงาน 3 ชลบุรี และสถาบันพัฒนาบุคลากรสาขาเทคโนโลยีการผลิตอัตโนมัติและหุ่นยนต์ (MARA) มอบนโยบายแนวทางการขับเคลื่อนแผนการดำเนินงานในปีงบประมาณ พ.ศ. 2564 และการพัฒนาแรงงานเขตพัฒนาพิเศษภาคตะวันออก (EEC) พร้อมเยี่ยมชมการทดสอบมาตรฐานฝีมือแรงงาน สาขาช่างเชื่อม และการฝึกอบรมการขับรถฟอร์คลิฟท์ โดยมีนายธัวชัย ศรีทอง รองผู้ว่าราชการจังหวัดชลบุรี พร้อมด้วยหัวหน้าส่วนราชการสังกัดกระทรวงแรงงานจังหวัดชลบุรีให้การต้อนรับ ณ สถาบันพัฒนาฝีมือแรงงาน 3 ชลบุรี อำเภอเมืองชลบุรี จังหวัดชลบุรี

ศาสตราจารย์ นฤมล ภิญโญสินวัฒน์ รัฐมนตรีช่วยว่าการกระทรวงแรงงาน กล่าวว่า รัฐบาลภายใต้การนำของพลเอก ประยุทธ์ จันทร์โอชา นายกรัฐมนตรี ได้ให้ความสำคัญกับการพัฒนาแรงงาน และเน้นย้ำให้พัฒนาทักษะกำลังแรงงานของประเทศให้ตอบสนองตามความต้องการของตลาดแรงงาน เพื่อให้มีงานทำ มีรายได้ ลดอัตราการว่างงาน ซึ่งกรมพัฒนาฝีมือแรงงาน (กพร.) มีแนวทางการดำเนินงานเพื่อยกระดับแรงงานให้เป็นแรงงานคุณภาพ โดยเฉพาะการประยุกต์ใช้เทคโนโลยีขั้นสูง และนวัตกรรมในการทำงาน เพื่อเพิ่มผลิตภาพ และสร้างโอกาสในการแข่งขันให้สูงขึ้น โดยมุ่งเน้นการป้อนแรงงานเข้าสู่ 12 อุตสาหกรรมเป้าหมายของประเทศ ในเขต EEC เพื่อเป็นกลไกสำคัญในการขับเคลื่อนเศรษฐกิจของประเทศอย่างยั่งยืน ผ่านการบูรณาการระหว่างภาครัฐ เอกชน และหน่วยงานที่เกี่ยวข้อง ซึ่งกระทรวงแรงงาน ได้จัดตั้งศูนย์บริหารแรงงานเขตพัฒนาพิเศษภาคตะวันออก (EEC) เพื่อทำภารกิจเพิ่มศักยภาพให้แก่กำลังแรงงานในเขตพื้นที่จังหวัดชลบุรี ระยอง และฉะเชิงเทรา

รมช. แรงงาน กล่าวต่อว่า การตรวจเยี่ยมการฝึกของสถาบันพัฒนาฝีมือแรงงาน 3 ชลบุรี (สพร.3 ชลบุรี) และสถาบันพัฒนาบุคลากรสาขาเทคโนโลยีการผลิตอัตโนมัติและหุ่นยนต์ (MARA) เนื่องจากมีการฝึกอบรมที่น่าสนใจ สามารถตอบสนองความต้องการของสถานประกอบกิจการในพื้นที่ได้ มีหลักสูตรการฝึกที่ทันต่อเทคโนโลยี โดยเฉพาะการฝึกด้านอัตโนมัติและหุ่นยนต์ จากการรายงานข้อมูล พบว่า ในปีงบประมาณ พ.ศ. 2564 สพร. 3 ชลบุรี มีเป้าหมายพัฒนาฝีมือแรงงานในพื้นที่จำนวน 3,620 คน และส่งเสริมสถานประกอบกิจการดำเนินการอีก 308,000 คน ตาม พ.ร.บ.ส่งเสริมการพัฒนาฝีมือแรงงาน พ.ศ. 2545 ในด้านการฝึกอบรม มีทั้งการยกระดับผีมือแรงงาน การพัฒนาศักยภาพแรงงานเพื่อรองรับการจ่ายค่าจ้างมาตรฐานฝีมือ และการทดสอบมาตรฐานฝีมือแรงงานแห่งชาติ การฝึกอบรมมีทั้งการฝึกประเภท hard skill และ soft skill เพื่อรองรับอุตสาหกรรมเป้าหมาย อาทิ ยานยนต์สมัยใหม่อิเล็กทรอนิกส์อัจฉริยะ การท่องเที่ยวกลุ่มรายได้ดี และการท่องเที่ยวเชิงสุขภาพ การบิน และโลจิสติกส์ ดิจิทัล

นอกจากนี้ ยังมีการดำเนินงานของสถาบันพัฒนาบุคลากรสาขาเทคโนโลยีการผลิตอัตโนมัติและหุ่นยนต์ หรือ MARA ที่ทำหน้าที่หน่วยฝึกอบรมที่เน้นเทคโนโลยีการผลิตอัตโนมัติ มีแผนการฝึกอบรมอีก 1,100 คน หลักสูตรที่ดำเนินการฝึกจะเกี่ยวข้องกับเทคโนโลยีอัตโนมัติ หุ่นยนต์ โปรแกรมการผลิต และเครื่องจักรกลเพื่อการผลิต ซึ่งจะนำไปสู่แผนการทดสอบมาตรฐานฝีมือแรงงาน อีกทั้ง มีเป้าหมายบูรณาการความร่วมมือกับภาคเอชนในแผนการฝึก EEC Model Type B อีก 100 คน เช่น การควบคุมหุ่นยนต์อุตสาหกรรม การวายริ่งตู้ควบคุมไฟฟ้าสำหรับระบบอัตโนมัติ เป็นต้น

“การพัฒนาทักษะให้แก่กำลังแรงงาน ไม่สามารถดำเนินการเพียงลำพัง ต้องอาศัยความร่วมมือจากภาคีเครือข่ายช่วยสนับสนุน ต้องแสวงหาความร่วมมือให้มากขึ้น ซึ่งรัฐบาลได้กำหนดให้เขตพัฒนาพิเศษภาคตะวันออก EEC เป็นหนึ่งในกลไกในการขับเคลื่อนยุทธศาสตร์ชาติระยะ 20 ปี และนโยบายประเทศไทย 4.0 มุ่งเน้นการพัฒนา 12 อุตสาหกรรมเป้าหมาย รวมถึงอุตสาหกรรม และบริการ ที่มีการใช้เทคโนโลยี และนวัตกรรมในการผลิต เพื่อเพิ่มขีดความสามารถในการแข่งขันของประเทศ การพัฒนาทรัพยากรมนุษย์ในพื้นที่ EEC จึงเป็นปัจจัยสำคัญที่จะทำให้บรรลุเป้าหมายของรัฐบาล วันนี้จึงต้องการเน้นย้ำ และให้ความสำคัญของการพัฒนากำลังแรงงานอย่างเข้มข้น เพื่อช่วยขับเคลื่อนเศรษฐกิจของประเทศต่อไป”

ที่มา: สนง.ประชาสัมพันธ์จังหวัดชลบุรี