ชลบุรี
เมืองชายทะเลที่ได้รับการกล่าวขานมากที่สุดแห่งบูรพาทิศ
ดินแดนชายทะเลอันมั่งคั่งแห่งนี้ ได้ผันผ่านกาลเวลามาเนิ่นนาน
จากการเป็นเมืองท่าค้าขายคึกคักในอดีต พัฒนามาสู่เมืองเกษตร อุตสาหกรรม
และท่องเที่ยว สิ่งนี้อาจสะท้อนคุณลักษณะสำคัญของคนเมืองชล ซึ่งมีความขยัน
และมองการณ์ไกล กอปรกับทรัพย์ในดินสินในน้ำ
ต่างช่วยกันเอื้ออำนวยให้การพัฒนาในด้านต่างๆ เป็นไปอย่างสะดวกราบรื่น
และต่อเนื่อง
ปัจจุบันชลบุรีมีประชากรประมาณ 1,535,445 คน ประชากรแฝงประมาณ 1,500,000 คน
ซึ่งส่วนหนึ่งเป็นผู้โยกย้ายเข้ามาทำงานในภาคอุตสาหกรรมต่างๆ
ที่ขยายตัวอย่างต่อเนื่อง ทว่าเมื่อพูดถึงผู้คนพื้นถิ่นจริงๆ ของชลบุรีแล้ว
จะพบว่าคนชลบุรีมีอาชีพผูกพันอยู่กับท้องทะเล นาไร่ ทำปศุสัตว์
และทำเหมืองแร่ โดยลักษณะนิสัยของคนเมืองชลดั้งเดิมได้ชื่อว่าเป็นคนจริง
ใช้ชีวิตเรียบง่าย ประหยัดอดออม เอาการเอางาน หนักเอาเบาสู้ มีความเป็นมิตร
และพร้อมต้อนรับผู้มาเยือนเสมอ
แม้ทุกวันนี้สภาพบ้านเมืองของชลบุรีจะเจริญรุดหน้าไปมาก
อีกทั้งมีผู้คนต่างถิ่นโยกย้ายเข้ามาอาศัยผสมกลมกลืนกับชนดั้งเดิม
ทว่าคนเมืองชลก็ยังคงรักษาขนบธรรมเนียม
และประเพณีอันดีงามของตนเอาไว้อย่างเหนียวแน่น
สะท้อนออกมาในรูปแบบงานเทศกาลประจำปีต่างๆ ไม่ว่าจะเป็นงานบุญกลางบ้าน
และงานเครื่องจักสานพนัสนิคม งานประเพณีวันไหล (งานก่อพระทรายวันไหล)
ในช่วงหลังวันสงกรานต์ งานประเพณีกองข้าวอำเภอศรีราชา
งานประเพณีวิ่งควายอันคึกคักสนุกสาน
รวมถึงงานแห่พระพุทธสิหิงค์และงานกาชาดชลบุรี เป็นต้น
เหล่านี้ล้วนแสดงให้ประจักษ์ถึงเอกลักษณ์ความโดดเด่นของคนชลบุรีได้อย่างชัดเจน
คนเมืองชลในปัจจุบันนับถือศาสนาพุทธมากถึง 97 เปอร์เซ็นต์
ส่วนที่เหลือนับถือศาสนาคริสต์ อิสลาม และอื่นๆ
โดยผสมผสานความเชื่อความศรัทธาในสิ่งศักดิ์สิทธิ์เข้าไว้ในศาสนาที่ตนนับถือด้วย
เช่น เมื่อถึงช่วงเทศกาลกินเจประมาณเดือนตุลาคมของทุกปี
ผู้คนที่ศรัทธาก็จะพากันนุ่งขาวห่มขาว งดการบริโภคเนื้อสัตว์
แล้วเดินทางไปร่วมสวดมนต์บำเพ็ญทานยังโรงเจต่างๆ ทั่วจังหวัดชลบุรี หรือ
อีกตัวอย่างหนึ่งที่เห็นได้ชัดเจนก็คือ คนเมืองชลมักเดินทางไปที่เขาสามมุข
เพื่อสักการะ และขอพรจากเจ้าแม่สามมุขบริเวณเขาสามมุข
ซึ่งไม่ห่างจากหาดบางแสน และอ่างศิลา สองตัวอย่างนี้
คือความเชื่อของชาวจีนที่ผสานรวมเป็นเนื้อเดียวกับความศรัทธาท้องถิ่น
จนไม่สามารถแยกออกจากกันได้
ชลบุรีเป็นย่านชุมชนจีนที่ใหญ่ที่สุดในภาคตะวันออก
คนจีนในชลบุรีส่วนใหญ่เป็นเชื้อสายแต้จิ๋ว ซึ่งเชี่ยวชาญการค้า
และมีบทบาทสำคัญในเรื่องเศรษฐกิจ ประมง อุตสาหกรรม เกษตรกรรม
และเข้ามาตั้งถิ่นฐานในช่วงต้นรัตนโกสินทร์ (รัชกาลที่ 2-3)
อยู่แถบชายทะเลเมืองบางปลาสร้อย ทำการค้า และประมงอย่างกว้างขวาง
จนมีเหลือส่งออกไปยังต่างประเทศ อีกทั้งเป็นผู้นำอ้อยเข้ามาปลูก
และริเริ่มอุตสาหกรรมน้ำตาลทรายแถบอำเภอบ้านบึง อำเภอพานทอง
และอำเภอพนัสนิคม ส่วนคนจีนที่อพยพเข้ามาในสมัยรัชกาลที่ 5
มักทำอาชีพปลูกผัก และเลี้ยงเป็ดอยู่ในบริเวณเดียวกัน สำหรับชนชาวลาวนั้น
อพยพเข้ามาช่วงรัชกาลที่ 3 มีอาชีพทำไร่ ทำนา
และมีความสามารถพิเศษในการทำหัตถกรรมจักสาน
ส่วนชาวมุสลิมอพยพเข้ามาตั้งแต่สมัยอยุธยา ปัจจุบันมีอาชีพทำสวนผลไม้
ไร่มันสำปะหลัง และค้าขายในตลาด เป็นกลุ่มที่เคร่งครัดในประเพณี
และศาสนา
ทุกวันนี้ ชลบุรีได้ก้าวย่างผ่านยุคแห่งการพัฒนา
จนสามารถบรรลุถึงความเพียบพร้อม ทั้งในแง่ของทรัพยากรธรรมชาติ
การท่องเที่ยว อุตสาหกรรม การเกษตร วิถีชีวิต
และสามารถรักษาวัฒนธรรมอันดีงามของท้องถิ่นไว้ได้อย่างสมบูรณ์
กลายเป็นเมืองชายทะเลที่มีเสน่ห์ น่าเที่ยว น่าลงทุน
และมีความปลอดภัยสูง
ศักยภาพ และความโดดเด่นในหลายด้านของเมืองชลทั้งหมดดังกล่าว
จึงกลายเป็นต้นทุนที่มั่งคั่งเพื่อการพัฒนาอย่างต่อเนื่อง
ส่งผลให้ชลบุรีกลายเป็น "เพชรน้ำเอกแห่งบูรพาทิศ"
ที่พร้อมเปิดประตูออกสู่สังคมโลกได้อย่างสมภาคภูมิ